เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 4 พฤษภาคม 2560 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 4886 คน
วันที่ 4 พฤษภาคม 2560 สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร ล้านนา (สวก.) จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการปลูกและการแปรรูปผักเชียงดา ให้กับกลุ่มเครือข่ายนักพัฒนากลุ่มแม่บ้านทาดง ต.ทาสบส้า อ.แม่ทา จ.ลำพูน จำนวน 23 ราย เพื่อถ่ายทอดวิธีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชาผักเชียงดาให้กับผู้เข้าร่วมอบรมให้สามารถสร้างอาชีพ เพิ่มพูนรายได้และสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจให้กับชุม ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา โดยมี ผศ.ดร.อรุณ โสตถิกุล ผู้อำนวยการ สวก. พร้อมด้วยคณาจารย์และนักวิจัยประจำสถาบัน ให้การต้อนรับและเป็นวิทยากรบรรยายให้ผู้เข้าร่วมอบรมตลอดหลักสูตร
สำหรับผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านที่คนทางภาคเหนือนิยมรับประทาน เป็นไม้เถาเลื้อย ใบกลมรี ปลายใบแหลม ฐานใบมน ผิวเรียบ ไม่มีขน ทั่วไปนิยมปลูกตามรั้วบ้าน ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือปักชำ ในตำรายาแพทย์แผนไทยใช้ใบผักเชียงดาตำละเอียดพอกกระหม่อมเพื่อรักษาไข้ อาการหวัด จากการวิจัยพบว่าสารออกฤทธิ์ในผักเชียงดาช่วยบำรุงสายตา ควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นต้นเหตุให้เกิดมะเร็งตับ มะเร็งในกระเพาะอาหาร โรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีบริษัทยาของประเทศญี่ปุ่นได้ผลิตผักเชียงดาเป็นชาชงสมุนไพร เพื่อลดน้ำตาลในเส้นเลือด ผักเชียงดาพบมากที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน
สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ทำการรวบรวมสายพันธุ์ผักเชียงดา จำนวน 101 สายพันธุ์เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ โดยนำมาศึกษาการปลูกดูแลรักษา การขยายพันธุ์ และพัฒนากระบวนการแปรรูป เพื่อพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และเพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ ทำการคัดสายพันธุ์เหลือผักเชียงดาที่มีคุณสมบัติตามต้องการเพียง 2 สายพันธุ์เท่านั้น การปลูกที่เหมาะสมคือการปลูกแบบใช้ค้างตั้งฉากร่วมกับการพรางแสง ทำให้ได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1,500กิโลกรัมต่อไร่ จำหน่ายกิโลกรัมละ 20 บาท คิดเป็นมูลค่าผลผลิตสดประมาณเกือบ 30,000 บาท
ในด้านอาหารนั้น ผักเชียงดาให้ประโยชน์ทุกส่วน มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ มีสารประกอบฟีนอลิกและคลอโรฟิลล์ พบมากในผักเชียงดาชนิดกระโดงใบอ่อน ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผักเชียงดานั้น ได้ศึกษาและแปรรูปหลายประเภท เช่น แกงผักเชียงดาบรรจุกระป๋อง ใบชาผักเชียงดา ผักเชียงดาบรรจุแคปซูล น้ำผักเชียงดาพร้อมดื่ม น้ำผักเชียงดาเข้มข้น ผักเชียงดาผง
สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 202 หมู่ 17 ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 52100 โทรศัพท์ 0-5434-2553
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา