เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 29 มีนาคม 2564 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 5871 คน
วันที่ 29 มีนาคม 2564 ผศ.วรเชษฐ์ หวานเสียง หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการ-การผลิต พร้อมด้วย ว่าที่ รต.ชัยภูมิ สีมา อาจารย์ประจำหลักสูตร และนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา ชั้นปีที่ 4 ทำการสาธิตกระบวนการทำงาน และส่งมอบผลงานสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องปั่นสำหรับการผลิตน้ำพริกตาแดง” ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีศรีป่าดู่ ต.ป่าลาน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยมีนางสุพัตรา ยาสุวรรณ เหรัญญิกวิสาหกิจชุมชนฯ เป็นผู้รับมอบ พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานเกษตรอำเภอดอยสะเก็ด ร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบ ณ สำนักงานหลักสูตรวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ ถ.ห้วยแก้ว เพื่อนำไปเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีศรีป่าดู่ ในการผลิตน้ำพริกตาแดง ที่มีคุณภาพสูงตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้กลุ่มฯ และเป็นที่ต้องการในท้องถิ่น
สำหรับ“เครื่องปั่นสำหรับการผลิตน้ำพริกตาแดง” เป็นผลงานของนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา ชั้นปีที่ 4 ประกอบด้วย นายกานดิศ จินตกานนท์ นายนิติพงษ์ พรมเสน และนายพลกร ชัยทาน ได้ร่วมกันศึกษาค้นคว้า วิจัย และประดิษฐ์ขึ้นภายใต้โครงการปริญญานิพนธ์ ระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา และการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาเป็นบันฑิตนักปฏิบัติ “Hand-on” นำความรู้ทางด้านวิทยาศาสต์เทคโนโลยีพร้อมด้วยทักษะปฏิบัติด้านวิศวกรรม บูรณาการในการยกระดับกระบวนการผลิตและแก้ปัญหาให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีศรีป่าดู่ จากการที่นักศึกษาได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและศึกษากระบวนการปั่นพริกแห้งเพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำพริกตาแดงนั้น พบว่าทางกลุ่มวิสาหกิจฯ ได้มีกระบวนการทำงานถึง 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.การตัดพริกเป็นท่อน 2.การนำพริกไปบดหยาบ 3.การปั่นละเอียด โดยปริมาณพริกแห้งจำนวน 4 กิโลกรัม(ความชื้น 1.6 เปอร์เซ็นต์) ใช้เวลาปั่น 1 ชั่วโมง 20 นาที จึงจะได้ความละเอียดของพริกตามความต้องการ เพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำพริกตาแดง ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการผลิตไม่สามารถส่งสินค้าได้ตรงตามระยะเวลาที่ลูกค้ากำหนด และสิ้นเปลืองทั้งแรงงานคนและพลังงานไฟ้ฟา
ซึ่งนักศึกษาได้นำปัญหาดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการค้นคว้า วิจัย ทดลอง และออกแบบเครื่องปั่นฯ ได้เป็นผลสำเร็จ โดยกระบวนการทำงานของเครื่องปั่นพริกที่นักศึกษาได้ร่วมกันออกแบบนั้นจะเริ่มต้นด้วยการป้อนพริกแห้งเข้าสู่เครื่องปั่นและเปิดสวิตซ์เริ่มการทำงาน จากนั้นชุดใบมีดภายจะหมุ่นเพื่อปั่นพริก เมื่อเครื่องปั่นทำงานครบตามเวลาที่กำหนด ให้บิดสวิตซ์ไปยังตำแหน่งกวาดพริก และทำการเปิดช่องด้านล่างถังเครื่องปั่นเพื่อปล่อยพริกป่นลงสู่ภาชนะ โดยมีการเก็บข้อมูลทดสอบในหนึ่งรอบการปั่นพบว่า สามารถบดพริกแห้งที่มีความตามความละเอียดตามต้องการได้มากถึง 4 กิโลกรัม ภายในเวลาเพียง 6 นาที แสดงให้เห็นถึงระยะเวลาการปั่นลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการปั่นแบบเดิม เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 8 นาที โดยเครื่องปั่นพริกที่นักศึกษาออกแบบนั้น ได้เน้นการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน ปลอดภัย สามารถปรับตั้งความเร็วรอบได้ 3 ระดับ คือ 1.กวาดพริก 2.ปั่นช้า 3.ปั่นเร็ว อุปกรณ์ภายในเครื่องทั้งหมดที่สัมผัสกับอาหาร ผลิตจากแตนเลสเพื่อความสะอาด ปลอดภัยของผู้บริโภค ทำให้กระบวนการผลิตน้ำพริกตาแดงมีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถลดต้นทุนการผลิตทั้งด้านแรงงาน และพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง มีรายได้เพิ่มขึ้นและสร้างความเข้มแข็งชุมชนบ้านป่าดู ต.ป่าลาน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้อย่างยั่งยืน
ภายหลังพิธีส่งมอบ นางสุพัตรา ยาสุวรรณ ผู้แทนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีศรีป่าดู่ ได้กล่าวว่า “ก่อนที่นักศึกษาจะได้ทำการประดิษฐ์เครื่องปั่นพริกให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ นั้น ทางกลุ่มได้ประสบปัญหาการผลิตน้ำพริกตาแดงส่งตลาดล่าช้า เนื่องจากการปั่นพริกให้มีความละเอียดที่เหมาะสมสำหรับการทำน้ำพริกตาแดงนั้น ต้องใช้เวลานานและมีการทำงานหลายขั้นตอน จึงได้ประสานงานมายังหลักสูตรวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา ผ่านทางสำนักงานเกษตรอำเภอดอยสะเก็ด ที่เข้าไปส่งเสริมอาชีพให้เกษตกรในพื้นที่ ในการประดิษฐ์เครื่องปั่นพริก โดยคิดว่าหากได้นำเครื่องปั่นพริกผลงานของนักศึกษาไปใช้งานจริง จะสามารถลดระยะเวลาการทำงานลงและยังสามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการของตลาดได้อีกด้วย ในโอกาสนี้ขอขอบคุณคณาจารย์และนักศึกษา มทร.ล้านนา พร้อมด้วยสำนักงานเกษตรอำเภอดอยสะเก็ดที่ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมการผลิตน้ำพริกตาแดงของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีศรีป่าดู่ ต.ป่าลาน อ.ดอยสะเก็ด”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องปั่นพริกได้ที่ ว่าที่ รต.ชัยภูมิ สีมา อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการ-การผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา โทร. 053 921 444 ต่อ 1236
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา